เลือกผู้ให้บริการคลาวด์อย่างไรให้ตอบโจทย์กับการใช้งาน
บริการ Cloud Computing คือ ระบบที่ช่วยให้การใช้งานด้านต่างๆ เช่น ระบบประมวลผลข้อมูล ระบบการเก็บข้อมูล การติดตั้งฐานข้อมูล หรือระบบภายในให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสามารถปรับเพิ่ม หรือลดขนาดของระบบ เช่น หน่วยประมวลผล หรือพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลได้ตามการใช้งานจริง ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านของความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และความปลอดภัย รวมไปถึงยังสามารถช่วยลดต้นทุนธุรกิจและรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต แน่นอนว่าทุกคนอยากใช้ Cloud แต่ว่าเราจะเลือกผู้ให้บริการเจ้าไหนกันดีล่ะ บางเจ้าก็มีค่าบริการที่สูงเกินไป บางเจ้าก็ราคาถูก แล้วคุณภาพของผู้ให้บริการ เราจะตัดสินจากอะไรดี ในบทความนี้ผู้เขียนจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ
Cloud ประเภทไหนที่เราจะต้องใช้เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทของธุรกิจหรือประเภทของการบริการของเรามากที่สุด
1. Public Cloud
Cloud ประเภทนี้เหมาะกับทุกบริษัท ไม่ว่าจะธุรกิจขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ก็ใช้ได้ โดยสามารถเก็บข้อมูลภายในบริษัท และมีระบบที่พนักงานสามารถใช้ร่วมกันได้ ที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก จึงช่วยลดภาระที่ธุรกิจแบกรับไว้ เพราะเลือกได้ว่าจะใช้เป็นรายเดือนหรือรายปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานของธุรกิจนั้นๆ นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่ม หรือลดขนาดของ Cloud ได้ตามความต้องการ โดย Cloud ประเภทนี้เป็นการใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของ Cloud ทั้งนี้ควรเลือกผู้ให้บริการ Cloud ที่สามารถไว้ใจได้เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
2. Private Cloud
Private Cloud คือ การใช้งานระบบที่ต้องการความมั่นคง และความปลอดภัยของข้อมูลที่สูง เช่น องค์กรภาครัฐ, องค์กรด้านการเงิน หรือ การเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าที่ต้องการความปลอดภัย และข้อมูลที่เป็นความลับระดับสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานต้องระบุตัวตนก่อนการเข้าใช้งาน มีการรักษาความปลอดภัยหลายชั้น บางแห่งมีการอนุญาตให้เข้าใช้ได้โดยต้องผ่าน network แบบพิเศษเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถจำกัดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับความต้องการของบริษัท และเนื่องจากเป็นระบบส่วนตัวทำให้มีความเร็วมากกว่าระบบ Cloud ประเภทอื่นๆ
3. Hybrid Cloud
Cloud ประเภทนี้คือเป็นการรวมข้อดีของ Cloud ทั้ง 2 ประเภทด้านบนเข้ามาผสมกัน คือรวมความปลอดภัยของข้อมูลจาก Private Cloud ความคล่องตัว และประหยัดค่าใช้จ่ายของ Public Cloud ทำให้ธุรกิจสามารถปรับการจัดเก็บข้อมูลได้ตามความต้องการ เช่น การเก็บข้อมูลทั่วไปไว้ใน Public Cloud และข้อมูลสำคัญไว้ใน Private Cloud เพื่อจำกัดสิทธิ์การเข้าถึง เรียกได้ว่าบริการ Cloud Service ประเภทนี้มีความยืดหยุ่นสูงมาก
จะเห็นได้ว่าระบบ Cloud ทั้ง 3 ประเภทนี้มีความหลากหลาย แต่ละธุรกิจสามารถเลือกใช้ตามความต้องการได้
Credit: Kinsta
สำหรับผู้สนใจใช้งาน cloud ควรต้องพิจารณาในการเลือกผู้ให้บริการก่อนจะตัดสินใจว่ามีอะไรบ้าง ?
1. ค่าใช้จ่าย
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องเงิน เพราะใครจะอยากไปใช้ cloud ที่มีราคาสูง ถ้าเรามาใช้ cloud แล้ว ก็ต้อง balance ให้ดีด้วย ไม่ใช่ว่าเลือกที่ถูกที่สุด แต่คุณภาพแย่ ดังนั้นเราต้องพิจารณาให้ได้ทั้งถูก และดี
2. ปรับได้ตามความต้องการ
Cloud service ของผู้ให้บริการแต่ละรายนั้นมีความยึดหยุ่น หรือ flexibility ที่ต่างกัน ซึ่งบางเจ้าสามารถปรับขนาดได้ตามการใช้งานในแต่ละช่วงเวลา หากช่วงใดมีการใช้งานมากก็สามารถปรับได้ทันที ถ้าหากว่ามีการเข้าใช้งานเป็นปริมาณมาก ๆ อาจจะทำให้ service หรือ application ของเราล่มได้ นั่นย่อมส่งผลไม่ดีต่อธุรกิจของเราแน่ๆ
3. ความเสถียรของ Cloud
บางธุรกิจที่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้เอง แล้วเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการถูกแฮกข้อมูล หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาจทำให้ข้อมูลสูญหายได้ แต่หากมีการว่าจ้างบริษัทที่ให้บริการ Cloud จะทำให้ธุรกิจไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่เหนือการควบคุมเหล่านี้ เพราะมีระบบการสำรองข้อมูลขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจได้มาก
4. ความสะดวกในการใช้เครื่องมือต่างๆ
ธุรกิจจะราบรื่น คล่องตัวมากขึ้น เพราะระบบ Cloud Service จะช่วยอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ทำงานพร้อมกันได้อย่างราบรื่น เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง และเสถียร ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
5. มีความปลอดภัย
สิ่งที่ธุรกิจจะต้องคำนึงเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูล คือ เรื่องความปลอดภัย ยิ่งหากธุรกิจมีการจัดเก็บข้อมูลในแพลตฟอร์มของตัวเอง อาจต้องว่าจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาดูแลระบบ ทำให้เสียทั้งค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกข้อมูล แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เนื่องจากบริการ Cloud มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ช่วยส่งเสริม Cyber Security มีระบบ Backup กู้ฐานข้อมูล ช่วยดูแลเมื่อเกิดปัญหา นอกจากเสริมเกราะป้องกันทางด้านความปลอดภัยให้กับธุรกิจแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเจ้าของธุรกิจอีกด้วย