Dark Fiber และ Fiber ต่างกันอย่างไร


2023-05-17 10:23:55

Fiber Optic หรือ Fiber คือ สายนำสัญญาณข้อมูลชนิดหนึ่ง ที่ผลิตมาจากแก้ว หุ้มด้วยใยพิเศษเพื่อป้องกันการกระแทก สามารถเดินสายได้ไกลหลายกิโลเมตร และ รองรับ Bandwidth ที่สูงได้ มีค่าสูญเสียของสัญญาณที่ต่ำ (ค่า loss) หากเทียบกับสายนำสัญญาณแบบอื่น สายไฟเบอร์ออฟติดถูกนำมาใช้ เพื่อส่งข้อมูลภายในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรืองานระบบที่ต้องการความเสถียรสูง ทำให้ได้รับความนิยมอย่างมมาก

ชนิดของ สายไฟเบอร์ออฟติก (Fiber Optic Cable)

สายไฟเบอร์ออฟติก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Single mode และ Multimode โดยมีส่วนประกอบที่เหมือนกันคือ ท่อแก้วข้างนอก (cladding) และ ส่วนที่เป็นท่อแก้วด้านใน ทำหน้าที่ลำเลียงสัญญาณแสง (core) แต่ขนาดของ core จะแตกต่างกันซึ่งมีผลต่อการเดินทางของสัญญาณแสงเมื่อลำเลียงไป


  • สายไฟเบอร์ออฟติกชนิด Single mode มีเส้นผ่านศูนย์กลางของแกนท่อแก้ว (core) ขนาดเล็กมากถึง 9 ไมครอน ทำให้แสงเดินทางค่อนข้างตรง ทำให้ส่งข้อมูลได้เป็นจำนวนมาก รวดเร็ว และไกลหลายสิบกิโลเมตร สายไฟเบอร์ชนิดนี้ นิยมนำไปใช้เป็นโครงข่ายสัญญาณ เพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหลักของระบบสื่อสาร ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค โดยความยาวคลื่นแสงจะอยู่ที่ 1300 นาโนเมตร (nm) หรือ 1500 นาโนเมตร (nm)


  • สายไฟเบอร์ออฟติดชนิด Multimode มีเส้นผ่านศูนย์กลางของแกนท่อแก้ว (core) อยู่ที่ 62.5 ไมครอน ด้วยขนาด core ที่ใหญ่ทำให้แสงมีการเดินทางที่กระจัดกระจาย ทำให้เกิดการหักล้างของแสง จะทำให้ส่งข้อมูลได้สั้นกว่า ซึ่งมีความยาวคลื่นที่ใช้ส่งข้อมูลอยู่ที่ 850 นาโนเมตร หรือ 1300 นาโนเมตร ซึ่งด้วยเหตุนี้ทำให้ สายแบบ multimode ถูกนำไปใช้ ส่งสัญญาณภายในอาคารที่ไม่ต้องมีการเดินสายในระยะทางที่ไกล


Dark Fiber

Dark Fiber คือสายเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกที่ไม่ได้มีการใช้งาน หรือการรับส่งข้อมูลบนเส้นใยไฟเบอร์ ซึ่งแตกต่างจากบริการ Fiber โดยผู้ให้บริการจะลากทิ้งไว้ และมักจะฝังทิ้งไว้ใต้ดินเป็นจำนวนมาก คำว่า Dark หรือ “มืด” นั้น ต้องการสื่อถึงความหมายที่ตรงข้ามกับสายไฟเบอร์ที่ใช้งานอยู่ที่ต้องมีการส่งสัญญาณแสงเพื่อส่งต่อข้อมูลอยู่ตลอด สายที่ไม่ได้ใช้จึงมืดอยู่นั่นเอง


ดังนั้นผู้ให้บริการจึงนำสายไฟเบอร์ที่ไม่ได้ใช้งานนั้น มาเปิดให้ลูกค้าเช่าใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบริหารจัดการ และควบคุมการรับส่งข้อมูลภายในหน่วยงานของตนด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค โดยมีปริมาณความจุที่เพียงพอต่อการใช้งานทำให้การ่ใช้งานเป็นไปอย่างอิสระ ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับองค์กร เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือสถาบันการเงินต่างๆ


Dark Fiber เหมาะกับการใช้งานตอนไหน

นิยมวางเครือข่าย Dark Fiber เป็นทั้งแบบ Point-to-Point (P2P) และ Point-to-Multipoint (P2MP) ถึงการวางแบบ P2P จะง่ายกว่า แต่การใช้รูปแบบการวางเครือข่าย Point-to-Multipoint จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและดูแลโดยรวมมากกว่า


การเชื่อมต่อแบบ Point-to-Point : การเชื่อมต่อแบบนี้จะมีอุปกรณ์สองเครื่องเท่านั้น คือ อุปกรณ์รับ และส่งนิยมใช้เชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์หรือคอมพิวเตอร์เพียง 2 เครื่องไม่นิยมเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย


การเชื่อต่อแบบ Point to Multi-point : การเชื่อมต่อแบบนี้เป็นการเชื่อมต่อที่มีอุปกรณ์มากกว่าสองเครื่องขึ้นไปโดยใช้ช่องทางการสื่อสาร หรือสื่อกลางร่วมกันทำให้ประหยัดสายสื่อสาร แต่ข้อเสียคืออาจะทำให้ข้อมูลที่จะสื่อสารในแต่ละเครื่องชนกัน ได้ดังนั้นต้องมีการควบคุมไม่ให้ข้อมูลในระบบสื่อสารชนกัน


ประโยชน์ที่จะได้จาก Dark Fiber

การใช้เครือข่ายสายไฟเบอร์ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว จากการได้ความเร็วเน็ตที่มากกว่า และลดการผลาญแบนด์วิธโดยสูญเปล่าที่มักกระทบกับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งการเลือกใช้สาย Dark Fiber ก็เพียงอัพเกรดอุปกรณ์ที่มีให้เข้ากันได้เท่านั้น และเครือข่าย Dark Fiber ที่มักลากอยู่ใต้ดิน จึงเป็นที่นิยมสำหรับโครงการด้านงานวิจัย และตรวจสอบทั้งหลาย เช่น การศึกษาด้านแผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนีย การตรวจสอบพื้นที่น้ำแข็งตลอดปีที่ขั้วโลกในอลาสก้า หรือแม้แต่การศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร เรียกได้ว่าแม้ก่อนหน้านี้ Dark Fiber จะถูกมองแค่เป็นเครือข่ายสำรองของผู้ให้บริการ แต่ตอนนี้ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายโดยองค์กรต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการปฏิบัติงานของตัวเอง


Dark Fiber และ Fiber ต่างกันอย่างไร

ในด้านลักษณะทางกายภาพ (physical) ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งคู่เป็นใยแก้วนำแสง เพี่ยงแค่ Dark Fiber เป็นอีกหนึ่งทางเลือกจากการใช้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ที่อาจช่วยทั้งลดค่าใช้จ่าย, ลดดีเลย์, และช่วยให้องค์กรมีการเชื่อมต่อสำรองเวลาที่เกิดภัยพิบัติหรือเหตุร้ายต่างๆ เพื่อรักษาความต่อเนื่องทางธุรกิจไว้ แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ และการมองภาพรวมของแต่ละองค์กรในการเลือกใช้งานทั้ง Dark Fiber และ Fiber 


ที่มา : technotification ; networkcomputing ; networkcomputing

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้ท่านได้รับการบริการที่ดีที่สุด โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายความเป็นส่วนตัว ที่ลิงก์นี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้